เมล็ดงาดำ ใช้ประกอบอาหารมานานแล้วตั้งแต่สมัยโบราณกาล จังหวัดทางภาคเหนือ เช่นแม่ฮ่องสอนใช้น้ำมันประกอบอาหาร และมีการทำน้ำมันงาใช้เองอีกด้วย ขั้นตอนก็ไม่ยาก เพียงแต่โขลกหรือตำให้แหลกหรือว่าละเอียดแล้วก็คั้นน้ำมันออกมา ชาวบ้านเขาเรียกว่าหีบ ฟังแล้วเหมือน การหีบอ้อยอะไรประมาณนั้นเลย หรือบางคนก็เรียกว่าอีดงา กรรมวิธีชาวบ้านก่อนจะอีดงาจะนำเมล็ดงาตากแดดสักแดดหนึ่งก่อนแล้วจึงนำมาทำการอีดงาได้ หรือหีบได้ แล้วก็นำมาเคี่ยวในกะทะ ทิ้งให้ตกตะกอนจึงบรรจุขวด ก็จะได้น้ำมันงาที่ชาวบ้านทำใช้เองก็จะมีสีที่เข้มแตกต่างกันแล้วแต่ความเข้มข้น
ทีนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องสารอาหารกันบ้าง น้ำมันงานั้นมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวประมาณ 80 เปอร์เซนต์ สำหรับงา 100 กรัม ให้แคลอรี่ 582 แคลอรี่ ไขมัน 52.8 กรัม คาร์โบไฮเดรต 19.8 กรัม เส้นใยอาหาร 5.4 กรัม โปรตีน 17.2 กรัม แคลเซียม 750 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 614 มิลลิกรัม เหล็ก 12.0 มิลลิกรัม วิตามินเอ 25 หน่วยสากล วิตามินบี 1 0.72 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.17 มิลลิกรัม ไนอะซิน 5.1 มิลลิกรัม (จากกรมอนามัย ส่วนที่กินได้ 100 กรัม)
เพราะฉะนั้นในการที่เรานำงามาทำอาหารก็จะได้รับสารอาหารทั้งหลายเหล่านั้นด้วย จึงถือว่างาเป็นยอดของอาหารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง วิธีกินงาให้อร่อย ก็จะต้องมีการประยุกต์ให้เข้ากับอาหารชนิดอื่น เช่น ขนมถั่วแปบ ยำสนัท(ยำผักสุกทางภาคเหนือ) กล้วยบวชชี บางคนก็โรยงาลงไปด้วย จะทำให้หอมกลิ่นงาและได้คุณค่าโภชนาการอีกด้วย ขนมข้าวเหนียวก็คลุกงา ร้านอาหารบางร้านก็โรยในข้าวผัด เป็นข้าวผัดสูตรงา ปัจจุบันนี้นิยมนำเอางามาเป็นส่วนผสมอีกมากมายหลายชนิด หรืออาหารประเภผัดก็จะใส่น้ำมันงาเล็กน้อยเพื่อคุณค่าอาหารและความหอมอร่อยอีกแบบ
สำหรับที่ว่ารับประทานงาดำ ทานแล้วจะทำให้ผมดำ นั้นก็น่าคิดเหมือนกัน แต่จากคุณค่าทางอาหารที่กล่าวไว้แล้วนั้นก็น่าจะมีความเป็นไปได้สูงมาก เพราะประกอบด้วยสารอาหารมากมาย เช่นแคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตตามิน บี1 บี2 โปรตีน ไขมัน ไนอะซิน ซึ่งสารอาหารเหล่านี้ก็มีประโยชน์ต่อร่างกายมากก็คงช่วยได้โดยรวมทั้งร่างกายเลยทีเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น